แม่น้ำไนล์กับวิถีชีวิตของชาวอียิปต์

แม่น้ำไนล์กับวิถีชีวิตของชาวอียิปต์

           แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำในทวีปแอฟริกาเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก คำว่า “Nile” มาจากคำว่า “เนย์ลอส” (Neilos) มีความหมายในภาษากรีกว่า “หุบเขาที่มีแม่น้ำ” ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ไอกึปตอส” ซึ่งแปลว่า แผ่นดินอียิปต์  

ที่มา : https://www.roboci.com/nile-river-puzzle-changed-30-years/

          ภูมิศาสตร์แม่น้ำไนล์ แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำที่ไหลจากทางตอนใต้หรือแอฟริกากลางมุ่งขึ้นเหนือสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยาวประมาณ 6,695 กิโลเมตร มีลักษณะทั่วไปของอียิปต์คือร้อนและแห้งแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตทะเลทรายซึ่งไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ยกเว้นบริเวณ ฝั่งแม่น้ำไนล์ที่มักมีน้ำท่วมขังเป็นประจำในช่วงฤดูฝน 

ทิศเหนือ ติดกับ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรไซนาย
ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลทรายลิเบียและทะเลทรายซาฮารา
ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดกับทะเลทรายนูเบียและทะเลแดง

          และเนื่องจากประเทศอียิปต์เป็นดินแดนที่ล้อมรอบด้วยทะเลทรายทำให้มีปราการธรรมชาติในการป้องกันศัตรูภายนอก

          ด้านเกษตรกรรม เนื่องจากสองฝั่งของแม่น้ำไนล์มีน้ำท่วมล้นในฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนของทุกปีทำให้มีตะกอนและโคลนพัดมาด้วยนั้นกลายเป็นปุ๋ยที่ดีสำหรับการเพาะปลูกบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งชาวอียิปต์จะเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น จึงต้องนำภูมิปัญญามาใช้แก้ไขข้อจำกัดของสภาพภูมิศาสตร์ด้วยการขุดคลอง ขนาดสั้นๆ เพื่อส่งน้ำเข้าไปในเขตทะเลทรายที่แห้งแล้งจนสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก และทำการเพาะปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ผู้นำชาวอียิปต์โบราณยังใช้วิธีคำนวณจัดแบ่งที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง กล่าวได้ว่าการทำชลประทานและระบบจัดสรรที่ดินช่วยให้ชาวอียิปต์สามารถตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งได้

          ด้านการปกครอง แถบลุ่มแม่น้ำไนล์มีลักษณะการอยู่อาศัยบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเอื้อต่อการปกครองที่เป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่มั่นคง ชาวอียิปต์ยอมรับอำนาจและเคารพนับถือฟาโรห์ ฟาโรห์มีอำนาจเด็จขาดในการปกครองและบริหารประเทศทั้งด้านการเมือง และศาสนา โดยมีขุนนางเป็นผู้ช่วยในด้านการปกครอง และมีพระเป็นผู้ช่วยด้านศาสนา

          ด้านภูมิปัญญา ชาวอียิปต์มีความสามารถในการคิดค้นเทคโนโลยีและวิทยาการความเจริญด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองการดำรงชีวิต ความเชื่อทางศาสนาและการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่จักรวรรดิอียิปต์ เช่น ความรู้ทางคณิตศาสตร์ เรขาคณิต และฟิสิกส์ ได้ส่งเสริมความเจริญในด้านการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังสามารถประดิษฐ์ปฏิทินรุ่นแรกๆของโลก  ประดิษฐ์อักษรที่เรียกว่า “ไฮโรกลิฟิก” (Hieroglyphic) และความเจริญทางการแพทย์ก็ทำให้ชาวอียิปต์สามารถคิดค้นวิธีผ่าตัดเพื่อรักษา ผู้ป่วย ตลอดจนใช้น้ำยารักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย (มัมมี่) อีกด้วย

         จากที่กล่าวมาข้างต้น บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์เปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย เป็นปราการธรรมชาติป้องกันการรุกรานจากภายนอก ลุ่มแม่น้ำไนล์มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการสร้างสรรค์อารยธรรมอียิปต์ อีกทั้งระบอบการปกครองตลอดจนภูมิปัญญาของชาวอียิปต์ทำให้เกิดเป็นอารยธรรมอียิปต์มาจนถึงปัจจุบัน




อ้างอิง : วิกิพีเดีย. (2562). แม่น้ำไนล์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แม่น้ำไนล์ 
              อัญชลิการ  ยามดี. (2562). อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563, จาก https://sites.google.com/a/ssru.ac.th/hisstoryofegypt/xarythrrm-lum-maena-nil 
              Panupong. (2560). อารยธรรมโลกยุคโบราณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563, จาก https://panupong088.wordpress.com/

              


          

ความคิดเห็น