ชีวิตของจัณฑาล

วรรณะจัณฑาล

        ระบบชนชั้นวรรณะในอินเดียเป็นสิ่งที่ถูกฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน เป็นการแบ่งชนชันของผู้ชนอย่างชัดเจน จนเกิดการเลือกปฏิบัติตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันที่วรรณะต่ำกว่าจะต้องหลีกทางให้กับวรรณะที่อยู่สูงกว่าตน และจัณฑาลคือวรรณะที่ถูกเหยียดหยามมากที่สุด! 

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/จัณฑาล

การเกิดวรรณะ
        ระบบวรรณะเกิดจากพวก “อริยะ” หรือ “อารยัน” เข้าไปรุกราน และทำสงครามกับชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิมในอินเดีย ซึ่งเรียกว่าพวก “มิลักขะ” (หรือทัสสยุ หรือทราวิฑ) ในยุคโบราณ เมื่อพวกอริยะชนะสงคราม จึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง โดยถือว่าแต่ละวรรณะเกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่แตกต่างกันและมีหน้าที่ต่างกัน คือ

1. วรรณะพราหมณ์ เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ มีหน้าที่สวดมนต์ ให้คำปรึกษากับกษัตริย์ พวกที่เป็นนักบวชก็ทำหน้าที่สอนไตรเพทและประกอบพิธีทางศาสนา

2. วรรณะกษัตริย์ เกิดจากพระอุระของพระพรหม ถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ มีเครื่องแต่งกายสีแดง หมายถึงนักรบ ทำหน้าที่สู้รบ ป้องกันหรือขยายอาณาจักร ปกครองบ้าน เมือง และเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

3. วรรณะแพศย์ เกิดจากพระเพลาของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีเหลือง เป็นพวกแสวงหาทรัพย์สมบัติ ได้แก่ พวกพ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร

4. วรรณะศูทร เกิดจากพระบาทของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีดำหรือสีอื่นๆที่ไม่ สดใส มีหน้าที่เป็นกรรมกร ลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน

        หนังสือบางเล่มกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์, กษัตริย์ และแพศย์ เป็นวรรณะของคนอารยัน คือชนผิวขาวผู้ริเริ่มศาสนา ส่วนวรรณะศูทร เป็นของคนดราวิเดียน ชนผิวดำชนพื้นเมืองเก่าของอินเดีย


จัณฑาลคือวรรณะไหน

       "จัณฑาล" คือวรรณะที่ 5 เป็นวรรณะที่ต่ำที่สุด เกิดจากการแต่งงานของ แม่ที่อยู่วรรณะพราหมณ์กับพ่อที่เป็นวรรณะศูทร ลูกออกมาจะอยู่วรรณะ "จัณฑาล" ในทันที เพราะถือว่าเป็นการแต่งงานที่เลว คือภรรยาอยู่ในวรรณะที่สูงกว่าสามี และกลุ่มจัณฑาลจะถูกเหยียดหยามจากสังคมเป็นอย่างมาก

        จัณฑาลบางคนในอินเดียกำเนิดมาจากวรรณะระดับบน ก็อาจได้รับการยอมรับจากคนในสังคมมากกว่าจัณฑาลที่กำเนิดมาจากวรรณะระดับล่าง ในปัจจุบันมีจัณฑาลหลายคนที่กำเนิดมาจากวรรณะล่าง แต่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของอินเดียได้

ที่มา : https://www.catdumb.com/india-poor-people-777/


ความเป็นอยู่ของจัณฑาล

        อาชีพของจัณฑาล จะเป็นอาชีพชั้นล่าง กวาดถนน ล้างท่อระบายน้ำ เก็บขยะ เป็นต้น หากจะทำการเกษตรก็ได้เพียงแต่เช่าสถานที่ ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และไม่อนุญาตให้ใช้ของบางชนิดที่คนวรรณะอื่น ๆ ใช้ได้ ส่วนที่อยู่ของวรรณะจัณฑาล จะอยู่ตามแหล่งเสื่อมโทรมและกองขยะ

        ระบบชนชั้นถูกนำมาใช้ในทุกแวดวงการของอินเดีย รวมทั้งสถานศึกษาด้วยโดยเฉพาะโรงเรียนรัฐ ที่ห้ามนักเรียนจัณฑาลกินอาหารที่เดียวกันนักเรียนวรรณะอื่นๆ ห้ามดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันกับวรรณะที่สูงกว่า และต้องนั่งเรียนแถวหลังสุดโดยไม่ได้รับความสนใจจากครู

        นอกจากโรงเรียนแล้ว ที่อื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน เช่น ร้านขายของบางร้านถึงกับไม่รับเงินจากวรรณะจัณฑาลโดยตรง เพราะความรังเกียจ บ้างก็รังเกียจถึงขนาดว่าให้จัณฑาลลบรอยเท้าตัวเองออกไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็ตาม

        เมื่อคนวรรณะจัณฑาลมีอะไรที่ดีกว่าวรรณะอื่นๆ ก็จะถูกข่มเหงรังแก เช่น หากมีเสื้อผ้าตัวใหม่พวกเขาก็จะถูกรังควานบ้าง ถูกทำร้ายบ้าง เพื่อไม่ให้ทำอะไรเกินหน้าเกินตาวรรณะอื่น


การหลุดพ้นของจัณฑาล

      วรรณะจัณฑาลถูกรังเกียจเดียดฉันท์เป็นอย่างมาก ผู้คนไม่รับสิ่งของจากพวกเขาโดยตรง และยังโดนบังคับให้เอากิ่งไม้ซุกไว้ที่หลัง เพื่อให้ช่วยลบรอยเท้าของตนเองเวลาเดินด้วย การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้กระทั่งการแต่งงานกับคนวรรณะจัณฑาลด้วยกัน ยังถูกคนวรรณะอื่น ๆ กีดกันและกดดันให้เลิก โดยให้เหตุผลว่า "วรรณะจัณฑาลไม่สมควรแต่งงานอย่างเอิกเกริก"

        สำหรับการหลุดพ้นจากวรรณะจัณฑาลนั้น ต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์หรือไม่ก็พุทธ แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนศาสนาเป็นไปได้ยาก ส่วนเรื่องฐานะนั้น จัณฑาลถือว่าจนที่สุด แต่ก็มีหลายคนที่ต่อสู้และฝ่าฝันอุปสรรคและตั้งใจเรียน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาได้รับเกือบจะเท่าเทียมกันคนวรรณะอื่น..จนกลายเป็นจัณฑาลที่ร่ำรวยได้

ที่มา : https://www.catdumb.com/india-poor-people-777/


        แม้ในปี พ.ศ.2498 ได้มีการออกกฎหมายห้ามใช้ระบบวรรณะ แต่เนื่องจากเป็นระบบที่เกิดจากความเชื่อโบราณ จึงยากต่อการเปลี่ยนแปลง บวกกับชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ยังคงศรัทธาในระบบนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม คนในวรรณะจัณฑาลมักจะสนับสนุนให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือ มีการศึกษาเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกดให้อยู่ในที่ต่ำ แม้จะสำเร็จการศึกษามาสูงแค่ไหน ก็ไม่สิทธิ์ประกอบอาชีพที่สูงส่งเกินวรรณะได้ พวกเขายังต้องทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสกปรกเช่นเดิม และจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป หากไม่ได้รับความร่วมมือจากวรรณะอื่น ๆ ที่สำคัญคือ หากระบบวรรณะยังคงอยู่ จัณฑาลก็ยังต้องต้องถูกข่มเหงรังแก และถูกริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ต่อไป




แหล่งที่มาของข้อมูล

ไทยรัฐออนไลน์. (2559). ศึกวรรณะอินเดียยุคใหม่ ยอมลดชั้นเพื่อให้อยู่รอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://www.thairath.co.th/content/583152

นัฐวุฒิ ขุวงษา. (2553). ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://sites.google.com/site/nuttawootkhuwongsa/sasna/sasna-phrahmn-hindu

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2563). จัณฑาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จัณฑาล

Catdumb. (2560). วิถีชีวิต ‘จัณฑาล’ วรรณะที่ต่ำต้อยที่สุดในอินเดีย ถูกปฏิบัติราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://www.catdumb.com/india-poor-people-777/

Kapook. (2559). จัณฑาล คืออะไร ทำไมถึงดูถูกเหยียดหยามในสังคมอินเดีย. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://hilight.kapook.com/view/131358

ความคิดเห็น